หลังจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการ
เลือกตั้ง (กกต.) ออกหน้ารับลูกนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. ว่าหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ส่อจะโมฆะ เพราะมีหลายเขตที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเดียวตามบทบัญญัติมาตรา 108 วรรค 3 นั้น นักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนได้ออกโรงชี้แจงและโต้แย้ง กกต.ที่ไม่รู้หน้าที่ของตนเอง และ เลขา กปปส. ดังนี้ :
รศ.เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม “ตามหลักกฎหมายแล้ว การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะจะต้องมีสาเหตุของการเป็นโมฆะ วันนี้มีผู้เสนอว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะเป็นโมฆะ เพราะจัดการเลือกตั้งไม่พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะว่า การเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรนั้นถูกกำหนดให้มีแล้ว คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรค 3 เป็นผลจากการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว และมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศ แล้ว 2 กุมภาพันธ์ 2557
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาล เช่น คำวินิจฉัยที่ 2/2557 หน้า 9 จากทั้งหมด 13 หน้า ที่ศาลอธิบายว่า บทบัญญัติในมาตรา 108 วรรค 2 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ถึง 60 วันนั้น หาได้เป็นบทบังคับไม่ นี่คือคำที่ศาลพูด ทั้งที่มาตรา 108 เขียนบังคับไว้เลยว่า จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน และมากกว่านั้น ยังกำชับด้วยว่าต้องจัดแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักรด้วย แต่ศาลกลับบอกว่า หาใช่บทบังคับเด็ดขาดไม่และอ้างเหตุสุดวิสัยจำเป็นอื่นๆ รวมทั้งอ้างไปถึงเหตุจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2549
หากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะจริง คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบคนเดียวเลยคือ กกต.เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ระบุชัดเจนว่า กกต.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการจัดการเลือกตั้งชัดเจน และเหตุผลที่ให้ กกต.จัดเพราะไม่ไว้ใจให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งเอง กกต.ต้องรับผิดชอบ เพราะว่ารัฐบาลได้ยุบสภาไปแล้ว อำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชน ก็ถูกส่งคืนไปแล้ว ถ้าโมฆะ กกต.ต้องรับผิดชอบ
ดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ “หลักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี วางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มีปัญหาแล้วจะประกาศให้เป็นโมฆะ การเลือกตั้งมีปัญหาตรงจุดไหนก็แก้ที่จุดนั้น เช่น สมมุติว่าจัดการเลือกตั้งไปแล้ว ทำให้การเลือกตั้งในบางหน่วยเกิดขึ้นไม่ได้ กฎหมายก็บอกวิธีการว่าให้ กกต.ไปดำเนินการ "จัดการลง
คะแนนใหม่" เฉพาะสำหรับหน่วยนั้น
ส่วนหน่วยไหนที่ไม่มีปัญหา ก็ดำเนินการไป เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุอะไรที่จะไปอ้างจะทำให้การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะ หรือสมมุติเลือกตั้งไปแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ต้องไปแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ว่าผู้สมัครรายไหน ในเขตไหน เป็นคนโกงการเลือกตั้ง ใครเป็นคนโกงการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จัดการเฉพาะเขตที่มีปัญหา ข้ออ้างของการจะบอกว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 108 บอกว่า การเลือกตั้งต้องจัดให้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เขาเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นกรณีทั่วไป ซึ่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี่ไงที่ประกาศพร้อมกันทุกเขต ทุกจังหวัด
แต่ในกรณีเฉพาะ คือกรณีที่มีปัญหา ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า หรือเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะเขต เช่น ผู้สมัครตายเลือกไปแล้วตายขึ้นมา หรือมีม็อบไปปิดไม่ให้เข้า ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะรายเขตนั้นไป เพราะฉะนั้นหลักกฎหมายจึงชัดเจนว่า จะเอาปัญหาว่าเลือกไม่พร้อมกันแล้วมาเป็นโมฆะทั้งหมดนั้นทำไม่ได้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 เขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อคุณเลือกตั้งไปแล้ว มีปัญหาเลือกตั้งไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ทำให้เลือกตั้งไม่ได้ครบ รัฐธรรมนูญ 93 วรรค 6 ก็บอกว่า ต้องไปดำเนินให้ได้ครบภายใน 180 วัน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะบอกว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นไม่พร้อมกันจะต้องทำให้เป็นโมฆะ
ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนี้มีกระแสว่าการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันเดียว จะส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นโมฆะ ซึ่งไม่ใช่ เพราะกฎหมายเขามีทางออกไว้อยู่แล้ว สมมุติว่า ถึงเวลาจะไปลงคะแนนปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมไปขัดขวางการเลือกตั้ง กฎหมายก็ระบุไว้แล้วว่าก็ให้เขตนั้นๆ ไปกำหนดวันลงคะแนนใหม่ ซึ่งไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย
อ่านต่อได้ที่ : http://pantip.com/topic/31603871