‘วัคซีนคือทางออกจากวิกฤติการระบาดโควิด-19 และนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ’ คือคำกล่าวที่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าวัคซีนจะเป็นทางออกจริง ก็ต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพเพียงพอ ยิ่งคุณภาพสูงเท่าไร (โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อด้วยเพิ่มเติมจากเพียงป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและป้องกันการตาย) โดยยังปลอดภัยเพียงพอ ก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีวัคซีนหรือ ‘วัคซีนมาช้า’ ซึ่งในกรณีของไทยดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น
ดังที่แสดงในรูปที่ 1 ในตอนท้ายของบทความที่แสดงปริมาณ ความเร็ว และประเภทของวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อและได้รับเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน 4 ประเทศ บราซิล และ อิสราเอล พบว่าทุกประเทศ(ยกเว้นอิสราเอล) ได้รับวัคซีนมากกว่า 2 ชนิดก่อนไทย ซึ่งเพิ่งมีวัคซีน 3 ชนิดในเดือนมิถุนายน 2564 และทุกประเทศ (ยกเว้นอิสราเอลและสิงคโปร์) ได้รับวัคซีนผ่านช่องทางCOVAX และเริ่มได้รับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564
มีหลายประเทศเพื่อนบ้านของเราได้รับวัคซีนบางชนิดที่คนไทยหลายคนเรียกร้อง (วัคซีนไฟเซอร์และโมเดิร์นนา) เร็วกว่าหรือในปริมาณมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ในประเทศไทยมีการอธิบายมาตลอดว่าที่หาวัคซีนดังกล่าวไม่ได้เพราะปริมาณการผลิตของบริษัทมีจำกัด ถูกประเทศร่ำรวยซื้อไปจนหมดแล้ว ไม่เหลือให้ประเทศอื่นเท่าไร (ทำให้ไทยไม่ได้สั่งซื้อวัคซีนกลุ่มนี้ในตอนแรกในขณะที่หลายประเทศสั่งก่อนหน้า) ซึ่งในตอนแรกหลายคนก็ยอมรับคำอธิบายนี้ แต่ในระยะหลังที่ประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงไทยเริ่มได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ด้วยก็น่าจะแสดงถึงจุดอ่อนในกระบวนการจัดหาวัคซีนของไทย
ในความเป็นจริงก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะการจัดหาวัคซีนน่าจะมี ‘เทคนิค’ และ ‘ลูกเล่น’ มากกว่าเพียงการติดต่อและถามตรงๆ กับผู้แทนบริษัทวัคซีนว่า ‘คุณมีวัคซีนพอให้เราจองไหม’ และเมื่อเขาบอกว่าไม่มีทางเราก็ยอมแพ้และเลิกติดต่อ ในขณะที่หากเป็นนักธุรกิจที่ต้องการซื้อสินค้าที่เขาคิดว่าจำเป็นมากก็มักจะสรรหาช่องทางต่างๆ หรือใช้เทคนิคการเจรจาที่หลากหลายเพื่อให้ได้มา นอกจากนี้กรณีวัคซีนยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศและระดับโลกด้วย ดังที่ทราบกันดีว่าประเทศมหาอำนาจบางประเทศใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลของตัวเองด้วย เราก็ควรรู้จักใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้เพื่อให้ได้วัคซีนมามากขึ้นผ่านช่องทางการทูต
ดังนั้นการที่ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญในเจรจาน่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทำไมสั่งน้อยแต่แรก ทำไมแทงม้าตัวเดียว ทำไมที่สัญญาว่าจะได้สุดท้ายได้น้อย ทำไมไม่ให้เอกชนช่วยจัดหา ฯลฯ ในรายงานของ TDRI ก่อนหน้าได้มีข้อเสนอแนะการจัดหาวัคซีน (https://bit.ly/375nDjz) ว่าควรมีทีมเฉพาะกิจในการจัดหาวัคซีน
โดยเสนอว่า “รัฐควรจัดตั้ง ‘คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19’ โดยให้มีนักธุรกิจที่มีประสบการณ์สูงเป็นหัวหน้าคณะ และให้มีอิสระในการเลือกคณะทำงานจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวัคซีน นักการทูต นักธุรกิจและนักเจรจาการค้าที่มีความสามารถจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ทำงานเต็มเวลาหรือเกือบเต็มเวลา ไม่ให้มีภารกิจอื่นรบกวนในระหว่างทำหน้าที่นี้ การทำงานไม่ถูกจำกัดหรือถูกจำกัดน้อยที่สุดจากระเบียบราชการ” และได้อ้างถึงบทเรียนจากประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง ซึ่งบางคนอาจคิดว่าไม่ควรเอาไทยไปเปรียบกับอังกฤษ
ประสบการณ์ต่างประเทศ
บทความนี้ถือเป็นส่วนขยายของข้อเสนอข้างต้น โดยต้องการให้ข้อมูลประสบการณ์ต่างประเทศนอกเหนือจากประเทศอังกฤษว่ามีจัดกระบวนทัพในการจัดหาวัคซีนอย่างไร โดยจะเน้นไปที่ประเทศที่เทียบเคียงกับประเทศไทยได้ด้านฐานะทางเศรษฐกิจ คือ 4 ประเทศในอาเซียน บราซิล และอิสราเอล โดยพิจารณาทั้งองค์ประกอบของ ‘ทีมจัดหาวัคซีน’ หัวหน้าคณะทีมจัดหา การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น เช่น เอกชน การติดขัดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การมีโรงงานผลิตในประเทศ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาว่าปัจจัยใดน่าจะเป็นเหตุให้หลายประเทศเหล่านี้จัดหาวัคซีนได้มากกว่าและเร็วกว่าประเทศไทย
ประการแรก ทีมจัดหาวัคซีนในเกือบทุกประเทศมีองค์ประกอบมากกว่าบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข หลายประเทศมีกระทรวงต่างประเทศ (กรณีประเทศไทย กระทรวงต่างประเทศเริ่มเข้ามาช่วยจัดหาวัคซีนอย่างไม่เป็นทางการในระยะหลังเท่านั้น ยังถือเป็น ‘งานฝาก’) สิงคโปร์มีหน่วยงานวางแผนด้านเศรษฐกิจ (คล้ายสภาพัฒน์ฯ ของเรา) มีส่วนร่วมซึ่งน่าจะทำให้มีมุมมองด้านเศรษฐกิจมากขึ้น บางประเทศให้รัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ มีเพียงประเทศอิสราเอลที่การจัดหาเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เนื่องจากทีมแพทย์อิสราเอลมีประสบการณ์บริหารในสถานการณ์วิกฤติบ่อยครั้งน่าจะทำให้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านมากกว่า ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีอิสราเอลมีบทบาทสูงในการเจรจากับบริษัทไฟเซอร์จนทำให้อิสราเอลเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้วัคซีนจากไฟเซอร์ในจำนวนมากและน่าจะเร็วที่สุดในโลก
ประการที่สอง เกือบทุกประเทศเปิดช่องทางการจัดหาวัคซีนที่มากกว่าทีมจัดหาหลัก ไม่ว่าจะเป็นให้รัฐบาลท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญคือ ภาคเอกชนมีบทบาทโดยตรงในการนำเข้าวัคซีนได้ แต่มักไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหา หรือถ้าจัดหามาได้ก็ต้องกระจายวัคซีนตามลำดับความสำคัญที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะ TDRI ที่กล่าวถึงก่อนหน้า
ประการที่สาม การมีโรงงานผลิตหรือบรรจุวัคซีนได้ในประเทศมีส่วนช่วยในการได้มาซึ่งวัคซีน แต่คาดว่าไม่ได้มีผลมากนัก ตัวอย่างเช่น อิสราเอลซึ่งไม่มีโรงงานในประเทศเลยแต่สามารถจัดการวัคซีนได้เร็วที่สุด การเจรจาและหาช่องทางที่หลากหลายในการได้มาซี่งวัคซีนน่าจะสำคัญกว่า
ประการที่สี่ มีบางประเทศติดขัดปัญหาข้อกฎหมายในการจองหรือจัดหาวัคซีน แต่ส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาได้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทย (ฟิลิปปินส์แก้ปัญหาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 หนึ่งเดือนหลังประเทศไทย) เร็วกว่า (อินโดนีเซียออกคำสั่งประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563) หรือช้ากว่า (บราซิลที่ต้องรอถึงมีนาคม 2564 จึงแก้ปัญหากฎหมายประมูลสินค้าได้) อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อวัคซีนอย่างกระฉับกระเฉงเร็วกว่าไทยหลังจากแก้ปัญหาเชิงกฎหมายดังกล่าวแล้ว
https://tdri.or.th/2021/07/lesson-learned-on-vaccine-procurement/