การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาครั้งแรก ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คนจาก 39 ประเทศ ร่วมเสวนาบทบาทของโบราณคดีที่มีต่อสังคม
โบราณคดีเป็นเลนส์ที่สามารถขยายอดีตของเรา สะท้อนภาพปัจจุบันของเรา และมองอนาคตของเรา
การมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงมรดกตกทอดของแหล่งมรดกมากขึ้น
ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือในหลายประเด็นที่มีความสำคัญ มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อสังคม
ในวันเปิดการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) เหล่าผู้เข้าร่วมการประชุมได้เรียนรู้ว่าโบราณคดีมีพลังมหาศาลในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประสบการณ์ที่มนุษยชาติมีร่วมกัน ขณะที่นักโบราณคดีก็ต้องแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นและหลีกเลี่ยงอคติทางวัฒนธรรม
การประชุมสุดยอดซึ่งจัดขึ้นโดยราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน จาก 39 ประเทศ มาที่เมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมอภิปรายเป็นเวลาสองวันในประเด็นที่หลากหลายเกี่ยวกับบทบาทของโบราณคดีในการพิทักษ์มรดก อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อสังคม
"นักโบราณคดีควรตระหนักถึงอัตลักษณ์ของตนเอง เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ของสถานที่ที่ทำการขุดค้นหรือศึกษา" ดร.คาเลด เมลลิติ (Khaled Melliti) นักประวัติศาสตร์และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (CNRS) กล่าวในระหว่างการอภิปรายแบบคณะ
ศาสตราจารย์ เอมานูเอล ปาปิ (Emanuelle Papi) ผู้อำนวยการวิทยาลัยโบราณคดีอิตาลีแห่งกรุงเอเธนส์ (Italian School of Archaeology at Athens) กล่าวเสริมว่า "โบราณคดีทุกยุคสมัย คือโบราณคดีร่วมสมัย ผู้คนต่างมองอดีตด้วยมุมมองของยุคสมัยตนเอง"
เขายกตัวอย่างว่า ในยุคสมัยหนึ่งของอิตาลี ความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมันเคยเป็นรากฐานสำคัญที่กำหนดอัตลักษณ์ของชาติ แต่ในการขุดค้นซากปรักหักพังยุคโรมัน นักโบราณคดีสมัยนั้นกลับไม่แยแสโบราณวัตถุจากยุคกลาง ยุคไบแซนไทน์ และยุคเรอเนซองส์
ในทำนองเดียวกัน ดร.คาเลด เมลลิติ กล่าวเสริมว่า นับตั้งแต่ที่ตูนิเซียหวนคืนสู่การปกครองโดยประชาชน หลังการปฏิวัติในปี 2553-2554 มุมมองต่อมรดกทางโบราณคดีของประเทศก็เปลี่ยนไป โดยหลังจากการปฏิวัติสิ้นสุดลง เขากล่าวว่า "เราได้ค้นพบหลักฐานการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐใต้ผืนแผ่นดินตูนิเซีย"
ข้อความเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่ต้องการจุดประกายบทสนทนาใหม่ ๆ ที่ไปไกลกว่ากรอบความคิดของผู้เชี่ยวชาญ และเดินตามเส้นทางที่เชื่อมโยงโบราณคดีกับชุมชนในวงกว้างขึ้น
อันที่จริงแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับชุมชนในท้องถิ่น ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งสำหรับนักโบราณคดีในการป้องกันไม่ให้มุมมองของตนเองบดบังมรดกตกทอดจากอดีต
อ่านต่อเพิ่มเติม https://www.thaipr.net/general/3383953