ได้ล่ะ เป็นต้นไม้ในพุทธประวัติด้วย 
กระทุ่ม ต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป ในมนุสสภูมิ
เอ่ยถึง ‘ดอกกระทุ่ม’ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ยิ่งเป็น ‘ผมทรงดอกกระทุ่ม’ แล้ว เกือบทั้งร้อยส่ายหน้า บอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน (รู้จักแต่ทรงสกินเฮดด์-ผมสั้นเกรียนติดหนังหัว) แต่สำหรับสาวๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกคนต้องไว้ผมทรงดอกกระทุ่มกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่
กระทุ่ม มาจากคำว่า ‘กทัมพะ’ ในภาษาบาลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae และมีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น กระทุ่มบก, โกหว่า, ตะกู, ตะโกส้ม, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง, ตุ้มพราย เป็นต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน และมีหูใบรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างโคนก้านใบ
ดอกสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อกลม กระจุกแน่นตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะส่งกลิ่นหอมในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลมีลักษณะกลม เป็นผลย่อย ออกเป็นกระจุก เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลจะสุกราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แต่ละผลมีเมล็ด ขนาดเล็กมากมาย และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อแก่
ต้นกระทุ่มเป็นไม้ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ พบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย เพราะเนื้อไม้ของกระทุ่มมีความละเอียด มีสีเหลืองหรือขาว และมีคุณสมบัติแห้งเร็วมาก อีกทั้งมีลำต้นตรง เหมาะในการทำฝาบ้าน ทำประตู หน้าต่าง เพดาน กระดาน ทำกล่องต่างๆ ทำเยื่อกระดาษ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ
ในพระไตรปิฏกได้แสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า ‘มนุสสภูมิ’ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี 4 ทวีป คือ 1. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ 2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ 3. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ 4. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ