(ที่มา: มติชนออนไลน์)
หากย้อนรอยกลับไปดูความเป็นมาของโครงการ
โฮปเวลล์นับเป็นเวลากว่า 21 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2532 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยนายมนตรี พงษ์พานิช ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เชิญชวนให้เอกชนเสนอตัวลงทุนก่อสร้างโครงการ
มีเรื่องเล่าว่า โครงการมูลค่าหมื่นล้าน รัฐมนตรีหนีบกระดาษ 3 ผ่านเข้าไปหาอนุมัติจากครม.ผ่านฉลุย!!!
9 พฤศจิกายน 2533 การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้ให้สัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายกอร์ดอน วู ประธานกรรมการบริหารได้มาลงนามในสัญญา โดยสัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2534 โดยมีนายมนตรีร่วมลงนาม
ลักษณะโครงการมี 4 ระบบ คือ ถนนทางด่วนยกระดับเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ทางไปกลับ 3 ช่องจราจร ทางรถไฟยกระดับของรฟท. จำนวน 3 ทาง ทางรถไฟชุมชนยกระดับ จำนวน 2 ทางของรฟท. และถนนรถยนต์เสมอระดับดินขนานระบบทางรถไฟและถนนยกระดับจำนวน 4 ช่องจราจร (ถนนLocal Road ในปัจจุบัน)
กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี แบ่งเป็น 5 ระยะคือ
ระยะที่ 1 ช่วงยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กม. ระยะที่ 2 ยมราช-หัวหมาก และมักกะสัน-
แม่น้ำ ระยะทาง 18.5 ระยะที่ 3 ช่วงดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ระยะที่ 4 ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และยมราช-บางกอกน้อย (ธนบุรี)ระยะยทาง 6.7 กม. ระยะที่ 5 ช่วงวงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และตลิ่งชัน-บางกอกน้อย(ธนบุรี)ระยะทาง 9.1 กม. รวมเป็นระยะทางทั้งหมด 60.1 กม.และทางด่วน 56.8 กม. มูลค่าการก่อสร้างช่วงนั้นประมาณ 80,000 ล้านบาท
โครงการโฮปเวลล์ถือเป็นโครงการที่ส่อเค้าลางแห่งความยุ่งยาก และความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่เริ่มต้นลงนามในสัญญา และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างรุนแรงในสมัยนั้น จนมาถึงวันนี้ปี 2555 รฟท.ยังไม่อาจหาข้อยุติกับซากอัปยศของโครงการโฮปเวลล์ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางกรุงเทพฯ ได้ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญา จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว
เริ่มตั้งแต่การเปิดช่องให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการกำหนดในเรื่องค่าปรับหาก
งานก่อสร้างล่าช้า และมีการให้อายุสัมปทานยาวถึง 30 ปี แถมยังต่อสัญญาได้อีก 3 ครั้ง คือ 8 ปีแรก+ไปอีก 10 ปี และ+ได้อีก 10 ปี
ตามเงื่อนไขในสัญญาเป็นโครงการลงทุนในรูปแบบเทิร์นคีย์ คือ ออกแบบไปก่อสร้างไป ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้การก่อสร้างมีปัญหาอุปสรรคในเรื่องพื้นที่ จุดตัด และการประสานงานโครงการก่อสร้างรถไฟต่าง ๆ หลายจุดตัดต้องยกตัวโครงการขึ้นสูง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงมาก ส่งผลให้เกิดความล่าช้า เพราะไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แต่ทั้งรฟท. และกระทรวงคมนาคมไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีบทปรับ ไม่มีบทลงโทษตามสัญญาที่ได้ทำตั้งแต่สมัยนายมนตรี รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมทำได้เพียงการเปิดโต๊ะเจรจาแล้วเจรจาอีก แต่ไม่สามารถหาข้อยุติอะไรได้ และไม่มีความคืบหน้า