ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ “อาเซียนคือทางเลือกของลูกหลาน”
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาคมอาเซียนกับการพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน” จัด โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2552 โดยกล่าวว่า นโยบายหนึ่งของอาเซียนคือการที่จะนำองค์กรนี้ให้เป็นที่รู้จักของคนกว่า 580 ล้านคน จาก 10 ประเทศสมาชิก และการมาปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาคมอาเซียนกับการพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน” ครั้งนี้ เป็นการนำภารกิจของอาเซียนที่มีอายุการก่อตั้งเท่ากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเล่าให้ฟังโดยเน้นเรื่องความสำคัญของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ในปี 2558 เป็นหลัก
เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสาหลัก 3 ประการคือเรื่องการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งภายใต้หลักการนี้ทำให้ 42 ปี ของการก่อตั้งไม่เคยมีความขัดแย้งที่รุนแรงในหมู่สมาชิก มีการให้ความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอื่นเพื่อถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคนี้ “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม คล้ายกับพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่เป็นที่รวมของหลายศาสนา เป็นภาพจำลองของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ต้องมีการประสานด้านวัฒนธรรม การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียน จะกลายเป็นตลาดที่เข้ามาแล้วสามารถค้าขายกับประชากรของคนทั้ง 10 ประเทศ แต่ละประเทศจะได้รับส่วนแบ่งจากตลาดนี้เท่าไรขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนั้นๆ สิ่งสำคัญคือความสงบเรียบร้อยภายในซึ่งหากยังมีการเผชิญหน้ากันของคนในประเทศก็ยากที่จะชนะการแข่งขันนี้ได้
เมื่อเกิดภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ประเทศทางยุโรปล้วนตั้งความหวังให้ประเทศในเอเชียตะวันออก ช่วยคลี่คลายปัญหาเนื่องจากมีประสบการณ์จากการแก้ไขวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยให้จีนเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อน โดยมีประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และ อาเซียน เป็นต้น ช่วยสนับสนุน
“ประชาคมอาเซียน” ก่อตั้งเพื่อให้คนรุ่นหลังมีทางเลือก และมีความท้าทายในการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะ อาชีพวิศวกร สถาปนิก แพทย์ นักบัญชี และบุคลากรที่เกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2558 จะมีข้อตกลงรับรองหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาชีพเหล่านี้ระหว่างประเทศในสมาคม แต่ผู้ที่สามารถเข้าแข่งขันได้ต้องมีความสามารถในสาขาเหล่านั้นอย่างแท้จริง
“ ภาคเอกชนไทยต้องกล้าเสี่ยง กล้าแข่งขัน ไม่เช่นนั้นผู้ที่พร้อมกว่าจะเข้ามาจองพื้นที่ก่อน เรามักจะปล่อยให้ประเทศอื่นข้ามกำแพงมาหาในขณะที่เราพอใจที่จะอยู่แต่ในรั้วบ้าน ในทางภูมิศาสตร์เราทราบว่าโลกกลม แต่โลกในทางเศรษฐกิจเป็นโลกที่แบนไม่มีกำแพงกั้น ทุกคนเป็นพลเมืองของโลก ไม่ใช่พลเมืองไทยเพียงประเทศเดียว สิ่งที่มีความสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับประเทศในภูมิภาค เพราะถ้าไม่สามารถสื่อสารกันเข้าใจ ก็ไม่สามารถแข่งขันได้เช่นกัน เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนไทยเคยคิดว่าประเทศใกล้เคียงกับเรามีความรู้ภาษาอังกฤษดีเพราะเคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน แต่ทุกวันนี้ หลายประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษมาก่อนก็พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเรา”
เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า แต่ละภูมิภาคมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ภาคใต้มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมยื่นไปในส่วนที่เป็นเกาะแก่งอาเซียน ทำให้เป็นแหล่งรองรับการอพยพทางเรือของคนในยุคประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มของอารยธรรมในภูมิภาค ดังนั้นคนภาคใต้จะมีความพร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจ ชุมชนส่วนหนึ่งของภาคใต้มีความพร้อมสำหรับการเป็นนักการตลาด นักลงทุน และ มัคคุเทศก์ เพราะรู้และเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของอาเซียนมากกว่าผู้ที่อยู่ในประเทศทางตอนเหนือของอาเซียน เพียงแต่ต้องปรับด้านทัศนคติและความเชื่อบางส่วนเท่านั้น
“5 ปีที่ได้เป็นเลขาธิการอาเซียน สิ่งที่มุ่งมั่นคือความต้องการที่จะให้คนในอาเซียนทุกครอบครัวได้รู้จักอาเซียน เพราะจะเป็นทางเลือก และ โอกาสในการประกอบอาชีพ ที่มากขึ้นของลูกหลาน”
เลขาธิการอาเซียน เดินทางมาปาฐกถา “ประชาคมอาเซียนกับการพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน” ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) เพื่อดูสถานที่ และหาแนวทางในการสนับสนุนให้อาเซียนมีการจัดประชุมใหญ่นานาชาติในกรอบ IMT-GT ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แห่งนี้
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์