เวลาเราพูดถึงว่าใครเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดหรือการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมากที่สุด แน่นอนว่าเรามักจะคิดไปถึงบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติต่างๆ อย่างเช่น บรรษัท เอ็กซอนโมบิล หรือ บรรษัท รอยัลดัชเชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติ หรือ International Oil Companies (OIC’s) ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก
แต่ความจริงแล้วตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) ของกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (DOE) ในปี 2010 สัดส่วนการครอบครองแหล่งสำรองที่พิสูจน์แล้ว (proven oil reserves) และสัดส่วนการผลิตน้ำมันในปัจจุบัน กลับตกเป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Companies-NOC’s) ถึง 85% และ 55% ตามลำดับ
จากตัวเลขของ Energy Intelligence ที่ได้ทำการสำรวจ 100 บริษัทน้ำมันทั่วโลกในปี 2010 พบว่าบริษัทน้ำมันทั้ง 100 แห่งผลิตน้ำมันได้ 87% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก แต่ NOC’s ผลิตได้ 55% โดยบริษัทที่ผลิตได้สูงสุดอันดับ 1-4 ล้วนแต่เป็น NOC’s ทั้งสิ้น คือ
1. Saudi Aramco ของประเทศซาอุดิอาเรเบียผลิตได้ในสัดส่วนสูงที่สุดถึง 12%
2. National Iranian Oil Company ของอิหร่านผลิตได้ 5%
3. Petroleos de Venezuela S.A. (PdVSA) ของเวเนซูเอล่า ผลิตได้ 4%
4. China National Petroleum Corp. (CNPC) ของจีน ผลิตได้ 3%
ส่วนอันดับ 5-6 เป็นของ IOC’s คือ BP และ ExxonMobil ผลิตได้ 3% เท่ากัน และอันดับที่ 7 เป็น Royal Dutch Shell ผลิตได้ในสัดส่วน 2%
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางพลังงาน จึงต้องมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติเอาไว้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน แต่การจัดตั้ง NOC’s ในประเทศต่างๆก็มีลักษณะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่นโยบายของแต่ละประเทศ โดยอาจแยกออกได้เป็นสองประเภทคือ
1. NOC’s ที่มีลักษณะเป็นส่วนขยายของรัฐบาลหรือเป็นรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น Saudi Aramco ของซาอุดิอาเรเบีย PdVSA ของเวเนซูเอล่า และPemex ของเมกซิโก เป็นต้น บริษัทเหล่านี้จะทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายและยุทธศาสคร์ด้านพลังงานของรัฐบาลเป็นหลัก โดยจะเน้นการจัดหาพลังงานให้กับประชาชนในประเทศได้บริโภคในราคาถูกกว่าราคาในตลาดโลก ดังนั้นจึงไม่เน้นผลประกอบการในเชิงธุรกิจมากนัก ซึ่งประเทศในกลุ่ม OPEC ทุกประเทศจะมี NOC’s แบบนี้ เพราะไม่ต้องกังวลกับเรื่องการขาดทุน เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันมาสนับสนุน
2. NOC’s ที่มีลักษณะการบริหารงานเชิงธุรกิจและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหรึอเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มที่ มีอิสระในการบริหารงานเป็นของตนเอง มีปรัชญาการทำงานในเชิงธุรกิจ แต่ก็ต้องสนองตอบต่อเป้าหมายของประเทศในส่วนรวมด้วย บริษัทในลักษณะนี้ได้แก่ Petrobas ของบราซิล และ Statoil ของนอร์เวย์ รวมทั้ง PTT ของไทยก็น่าจะเข้าข่าย NOC’s ในกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน
ถ้าจะถามว่าสองแบบนี้แบบไหนดีกว่ากัน ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศมากกว่า ถ้าเราเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน มีรายได้จากการส่งออกพลังงานมากมาย NOC’s แบบแรกก็ดีสำหรับรัฐบาลที่จะมีเครื่องมือในการบริหารนโยบายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนจะได้บริโภคพลังงานในราคาถูก
แต่ถ้าเราเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ผมว่า NOC’s แบบที่สองน่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า เพราะจะช่วยถ่วงดุลย์ราคาพลังงานไม่ให้สูงจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนราคาพลังงานจนต่ำเกินไปอย่างไร้เหตุผล และทำให้เกิดการบริโภคพลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว และยังก่อให้เกิดมลภาวะแก่ชาวโลก โดยทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
ผมทราบดีว่ามีหลายคนที่ไม่พอใจบทบาทของปตท.ในฐานะ NOC’s ในปัจจุบันและต้องการทบทวนฐานะของปตท.ใหม่ให้เป็น NOC’s ในแบบที่หนึ่ง เรื่องนี้ผมอยากให้คิดให้ดีๆนะครับ ผมว่าทิ้งให้ปตท.เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว