ที่เห็นอยู่นี้คือร่างคำปราศรัยของประธานาธิบดี บารัก โอบามา สำหรับการรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ รอบที่สองเมื่อเร็ว ๆ นี้
พร้อมลายมือของเจ้าตัวที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างละเอียดถี่ยิบ
เรียกว่าร่างแรกนั้นถูกโยนทิ้งไปเสียส่วนใหญ่ก็ว่าได้
โอบามา เป็นผู้นำที่เอาจริงเอาจังกับคำปราศรัยของตนเกือบจะทุกประโยค ดูรูปที่แอบถ่ายจากคนใกล้ชิดนี้ก็จะเห็นว่าแกเล่นแก้ไข, เพิ่มเติม และต่อยอดร่างคำปราศรัยยุบยิบเลยทีเดียว
ความที่โอบามา เคยเป็นนักเขียนและเป็นบรรณาธิการนิตยสารประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอนเป็นนักศึกษาด้วย, แกจึงพิถีพิถันกับการร่างคำปราศรัยให้ได้เนื้อความที่เหมาะเจาะอย่างยิ่ง
ผมชอบศึกษาคำปราศรัยของผู้นำโลก เพราะเนื้อหาและวิธีการนำเสนอตลอดจนความสามารถของผู้นำนั้น ๆ ในการใช้ภาษาสะท้อนถึงความรู้สึก และเนื้อหาที่ตนเองต้องการจะสื่อกับประชาชนอย่างแท้จริง
ผู้นำบางคนไม่ใส่ใจเนื้อถ้อยกระทงความที่จะบอกกล่าวกับสาธารณชน คิดว่ามีคนร่างคำปราศรัยให้แล้วก็อ่านไปตามนั้น อ่านถูกอ่านผิด อ่านซ้ำอ่านซากก็มี
ในอดีต มีผู้นำคนหนึ่ง วันหนึ่งต้องกล่าวคำปราศรัยเปิดงานหลายแห่ง ขึ้นเวทีงานแรกไปหยิบเอาคำปราศรัยที่ลูกน้องร่างไว้สำหรับงานสุดท้าย ผิดฝาผิดคนผิดโอกาสก็เคยมี ได้ฮากันลั่นมาแล้ว
สมัยหนึ่ง ผมไปทำข่าวที่ต่างประเทศกับนายกฯไทย ท่านกินเหล้ามึน ๆ แล้วขึ้นไปร่ายยาว ก่อนจะเริ่มต้นอ่านคำปราศรัยยาว 10 กว่าหน้าของกระทรวงต่างประเทศท่านเกิดความมั่นใจเกินเหตุ พูดน้ำไหลไฟดับยาวยืด พาดพิงถึงประเทศที่สามในทางเสื่อมเสีย ทูตประเทศนั้นเดินออกจากงาน และผู้นำของเรากลับมาอ่านร่างคำปราศรัยอันเยิ่นเย้อนั้นทีละประโยคด้วยอาการตะกุกตะกัก, ทำเอาล่ามที่เป็นคนไทยเหงื่อแตก กระซิบบอกผมตอนหลังว่า “ผมอยากฆ่าตัวตายบนเวทีนั้นเดี๋ยวนั้นเลย!”
โอบามา มีนักเขียนคำปราศรัยหรือ speech-writers ทั้งหมด 7 คน และแต่ละคนก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน...บางโอกาส, โอบามา มอบหมายให้ทำงานเป็นทีม, อีกบางเรื่องก็ให้ไปค้นหาข้อมูลและเสนอรายละเอียดมาเท่านั้น ส่วนการเขียนจริง ๆ และภาษาที่ใช้ก็จะแบ่งไปให้คนที่มีประสบการณ์มากกว่า
นักร่างคำปราศรัยไม่ได้ทำงานคนเดียว หากแต่ยังมีทีมของตัวเองที่ไปค้นคว้าวิจัยหาข้อมูลมาประกอบร่างก่อนที่จะเสนอให้ท่านผู้นำได้รับรู้ก่อนที่จะเขียนเป็นร่างภาษาเต็มรูปแบบ
ที่สำคัญคือตัวประธานาธิบดีเองจะต้อง “ซ้อม” อ่านร่างนั้นก่อนเพื่อจะทดลองว่าภาษาที่ใช้และลำดับเรื่องนั้น “คล่องตัว” แค่ไหน แล้วจึงแก้ไขตามความลื่นไหลของการซ้อมนั้น ๆ
ในการกล่าวคำปราศรัยสำคัญ ๆ ของผู้นำไม่ใช่เพียงแค่ “อ่าน” ตามตัวหนังสือที่ร่างมาเท่านั้น หากแต่จะต้องฟังดูเป็นธรรมชาติและสามารถโน้มน้าวให้คนฟังเชื่อตาม หรือตอบโต้ประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแนบเนียนได้
เพราะคำปราศรัยของผู้นำประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมีการเก็บไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ทุกคำเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการปกครองประเทศที่คนรุ่นหลังสามารถนำมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรีอีกด้วย
เพราะในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง, ผู้นำคือคนรับใช้ประชาชน และทุกอย่างที่พูดและแสดงออกจะต้องเป็นวัตถุดิบสำหรับการวิจารณ์ในอนาคตต่อไป
ผู้นำประเทศกับความสามารถในการสื่อกับประชาชน ผ่านคำปราศรัยสาธารณะจึงเป็นหัวใจ ของการปกครองประเทศที่สำคัญยิ่ง
ที่มา http://www.oknation.net/blog/blackcheepajornlok/2013/03/11/entry-1