
จับสัญญาณ
ราคาทองคำ ซึมยาว ศูนย์วิจัยทองชี้มีโอกาสร่วงถึง 15,000-16,000 บาท ฟากนักลงทุน "โกลด์ฟิวเจอร์ส" บาดเจ็บสาหัส คาดหนีหายออกจากตลาดกว่า 20%
ก.ล.ต.ยัน โบรกเกอร์ทองไม่สะเทือนจากลูกค้าเบี้ยวหนี้ โดนผลกระทบถ้วนหน้าทั้งกลุ่มอัญมณีจนถึงโรงรับจำนำ เผยไทยสต๊อกทองเต็มประเทศ ก.พ.ไทยนำเข้ากว่า 4 หมื่นกิโลกรัม
จากสถานการณ์
ราคาทองคำในตลาดโลกร่วงจากช่วงวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2556 ลงไปใกล้ระดับ 1,500 เหรียญ และวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ราคาก็อ่อนตัวลงอีกกว่า 140 เหรียญ หรือประมาณ 9% มาปิดใกล้ระดับ 1,353 เหรียญ ถือเป็นการลดลงกว่า 200 เหรียญในช่วงเวลาสองวันทำการ ก่อนจะฟื้นตัวได้
เล็กน้อยในวันที่ 16 เมษายน 2556 ขณะที่ตลาดทองคำในประเทศไทย หลังเปิดทำการในวันที่ 17 เม.ย. พบว่าราคาทองไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากก่อนปิด
สงกรานต์ที่ประมาณ 2.1 หมื่นบาท ร่วงลงมาที่ 19,000 หมื่นบาท หรือลดลงราว 2,000 บาท และเมื่อ 19 เม.ย.ราคาซื้อ/ขายปิดที่ 19,150/19.250 บาท
สิ้นปีทองโลก 1,350 ดอลลาร์
มาร์เก็ตวอตช์ดอตคอมอ้างบทวิเคราะห์จากธนาคารเครดิต อะกริโคลมองว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กดดันให้ราคาทองดิ่งลงคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ
ราคาทองคำจะร่วงลงอีกในระยะกลางเพราะเงินดอลลาร์แข็ง ซึ่งทำให้ทองคำมีราคาแพงในสายตานักลงทุนต่างชาติ พร้อมคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีของทองคำในปีนี้จะอยู่ที่ 1,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสิ้นปีนี้ราคาจะอยู่ที่ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยความกังวลเรื่องธนาคารกลางชาติยุโรปจะนำทองคำสำรองออกมาขายเพื่อชำระหนี้เป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำโลกในช่วงที่ผ่านมาประกอบกับเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกองทุนทองคำ (ETP) การคาดการณ์ว่าราคาทองจะทรุดลง การตื่นตระหนกขายทิ้ง ล้วนเป็นสาเหตุที่ฉุดให้ราคาทองยิ่งดิ่งลึก
กูรูคาดราคาทองซึมยาวฟื้นปี 58
นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์
แม่ทองสุก กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงภาพการลงทุนทองคำได้เข้าสู่ช่วงตลาดหมี และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงและซึมต่อเนื่องในระยะยาว อย่างไรก็ตาม คาดว่า
ราคาทอง จะฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2558 หากปัญหาเงินเฟ้อกลับขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อธนาคากลางหลายประเทศทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ทองคำพลิกบทบาทกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกครั้ง
ด้านนายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2 ราคาทองคำจะแกว่งตัวในกรอบ 1,250-1,500 เหรียญ หรือคิดเป็นบาทละ 17,500-22,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวหากเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตราสารหนี้ระยะยาวของไทยอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวลดลงแตะ 28 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งจะยิ่งเป็นผลให้ราคาทองปรับตัวลดลงตามไปด้วย นักลงทุนจึงควรต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนสูง
"กรอบราคาทองมีโอกาสปรับตัวลดลงได้มากกว่าที่เราประเมินโดยอาจดิ่งลึกไปได้ถึง 1,100-1,200 เหรียญ และถ้าเงินบาทแข็งค่าไปที่ 28 บาท ก็จะกดดันให้ราคาทองร่วงลงไปถึงบาทละ 15,000-16,000 บาทได้" นายกมลธัญกล่าวและว่า
การที่ราคาทองปรับตัวลดลงนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โรงรับจำนำทั้งระบบก็ได้รับผลลบเช่นกัน เนื่องจากการรับจำนำมีสัดส่วนของทองคำสูงถึง 80% ขณะที่ปกติจะประเมินราคาทองให้ต่ำกว่ามูลค่าจริงประมาณ 15% แต่ที่ผ่านมาราคาทองกลับปรับตัวลดลงมากกว่า 15% แล้ว และมีแนวโน้มจะดิ่งต่ออีก ดังนั้นจึงทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับความเสี่ยงมาก
นักลงทุนโกลด์ฟิวเจอร์สสาหัส
นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์
ราคาทองคำ ร่วงหนักทำให้บริษัทต้องบังคับขายปิดสถานะ (ฟอร์ซเซล) สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold futures) ของลูกค้าประมาณ 10% จากปริมาณซื้อขายทั้งหมด หรือคิดเป็นลูกค้ากว่า 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทุนเนื่องจากการเปิดสถานะซื้อล่วงหน้า (Long) ไว้ โดยช่วงก่อนสงกรานต์บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่เปิดสถานะ Long 20% ส่วนที่เหลือเปิดสถานะขายล่วงหน้า (Short) ดังนั้นจึงทำให้การขาดทุนมีค่อนข้างน้อย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาพรวมของตลาด Gold Futures มีความคึกคักลดลง จากที่นักลงทุนหลายรายประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก โดยคาดว่าจะทำให้นักลงทุนที่ขาดทุนอย่างรุนแรงหายไปประมาณ 20% ส่วนนักลงทุนที่ขาดทุนแต่ยังมีเงินสดและสภาพคล่องจากการลงทุนด้านอื่นเหลือ ก็อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจึงจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
เปิดตัวเลขสต๊อกทองเต็มประเทศ
ผู้สื่อข่าว"ประชาชาติธุรกิจ" ราย
งานว่า การนำเข้า-ส่งออกทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าทองคำแท่ง 41,340 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 422.58% (7,910 กก.) คิดเป็นมูลค่า 2,176.4 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การส่งออกลดลงเหลือเพียง 1,639 กิโลกรัม มูลค่า 103 ล้านเหรียญ หรือลดลง 88% ขณะที่เครื่องประดับที่ทำจากทองส่งออกลดลงเหลือ 467 ล้านเหรียญ หรือลดลง 40.9%
ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี 2556 ไทยนำเข้าทองคำแท่งมาสต๊อกไว้จำนวนมาก โดยบริษัทที่มีการนำทองคำเข้าสูงสุด 5 รายใหญ่แรก ได้แก่ บริษัท บริงค์ส (ประเทศไทย), บริษัท จีโฟร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติคส์ (ประเทศไทย), บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด, บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด และบริษัท วาย แอล จี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
"การนำเข้าทองคำแท่งในเดือนต่อไปจะไม่ลดลงฮวบฮาบจากสต๊อกคงเหลือ แต่จะมีการนำเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างในช่วงทองขาลง และอีกส่วนหนึ่งนำเข้ามาเฉลี่ย
ราคาทอง คำในช่วงขาขึ้นที่ซื้อมาแพง แต่ต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนด้วย" ผู้ค้าทองรายหนึ่งกล่าว