ที่มา มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1438172473
รู้หรือไม่ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา "ผู้กองยอดรัก" ถูกสร้างถึง 9 ครั้ง หลายหนเกิดขึ้นหลังรปห.!

เว็บไซต์ประชาไท ภาษาอังกฤษ ได้เผยแพร่รายงานข่าวหัวข้อ "Romancing the tanks: how military rom-com’s constant remakes since the ʼ70s legitimize coups" (ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "แปรรถถังให้กลายเป็นเรื่องราวพาฝัน: เมื่อหนังละครโรแมนติกคอเมดี้เกี่ยวกับทหาร ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970)
โดยผู้เขียน ซึ่งใช้ชื่อว่า Asaree Thaitrakulpanich ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา หนังและละครแนวโรแมนติกคอเมดี้ ที่มีตัวละครเอกเป็นทหาร เรื่อง "ผู้กองยอดรัก" ได้ถูกสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากถึง 9 ครั้ง และมีหลายๆ ครั้ง ที่หนัง-ละครเหล่านั้น ถูกสร้างขึ้นหลังเหตุรัฐประหาร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การรีเมค "ผู้กองยอดรัก" นั้นมีความข้องเกี่ยวกับการพยายามสร้างความชอบธรรมและสร้างภาพลักษณ์โรแมนติก ให้แก่กองทัพ ซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง
รายงานข่าวชิ้นนี้ชี้ว่า "ผู้กองยอดรัก" นิยายของ "กาญจนา นาคนันทน์" เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้งใน พ.ศ.2516 และ 2524 และถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึง 7 ครั้ง ใน พ.ศ.2515, 2522, 2531, 2538, 2545, 2550 และครั้งล่าสุด ใน พ.ศ.2558 ทางช่อง 3
ทั้งนี้ ผู้เขียนรายงานและกองบรรณาธิการประชาไท ได้จัดทำอินโฟกราฟิกที่เปิดเผยให้เห็นว่า มีหลายครั้งที่หนัง/ละครเรื่อง "ผู้กองยอดรัก" ถูกสร้างขึ้นคล้อยหลังเหตุการณ์รัฐประหารหรือการกบฏที่ล้มเหลว โดยทหารในกองทัพ

โดยหลังรัฐประหารปี 2514 ก็มีการสร้างละคร "ผู้กองยอดรัก" ในปี 2515 และเวอร์ชั่นหนังในปี 2516
หลังรัฐประหารปี 2519 และ 2520 มีการสร้างละคร "ผู้กองยอดรัก" ในปี 2522
พร้อมๆ กับเหตุการณ์กบฏปี 2524 ในปีเดียวกัน มีการสร้างหนังเรื่อง "ผู้กองยอดรัก"
หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 ละคร "ผู้กองยอดรัก" ก็ถูกสร้างขึ้นอีกครั้ง
เช่นกันกับในปี 2558 ที่ละครเรื่องนี้ถูกรีเมคอีกหน ภายหลังรัฐประหารปี 2557
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนสกู๊ปดังกล่าวว่า ละคร "ผู้กองยอดรัก" ขับเน้นประเด็นเรื่องความรักชาติ ผ่านการนำเสนอภาพความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท และสถานะแตกต่างทางสังคม-เศรษฐกิจ
ภาพลักษณ์ทหารในละครถูกนำเสนอในเชิงโฆษณาชวนเชื่อจนมีบุคลิกลักษณะโรแมนติก,สนุกสนานและร่าเริง
ทางด้านนายทหารระดับพันเอกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนรายงานว่า ละคร "ผู้กองยอดรัก" นั้น ฉายภาพวิถีชีวิตของ "นายทหารรับใช้" อย่างไม่สมจริง จนอาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีต่อกองทัพได้
อย่างไรก็ดี อารมณ์ขันในละคร "ผู้กองยอดรัก" ทำให้ชานันท์เห็นว่า ละครเรื่องนี้มีบางแง่มุม ที่ช่วยทำลายการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะในตอนที่ตัวละครผู้บังคับบัญชา ถูกกลั่นแกล้งหรือหยอกล้อโดยพลทหาร ขณะที่ นายทหารคนเดิม กลับมองว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์หยอกล้อเช่นนั้นในชีวิตจริง พลทหารคนดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษสั่งขังโดยทันที
ในช่วงท้ายของรายงานข่าว Asaree ยังได้ระบุว่า นอกจากหนัง/ละคร ที่ช่วยทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อผ่านการสร้างภาพลักษณ์โรแมนติกให้แก่กองทัพแล้ว บทเพลงจำนวนมากในวงการบันเทิงไทย ก็ร่วมทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
คลิกอ่าน รายงานข่าวฉบับสมบูรณ์ในภาษาอังกฤษ ได้ที่นี่
http://prachatai.org/english/node/5356?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook