
นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนัก
งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า โครงการอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ. ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาเป็น
ปีที่ 5 ถือเป็นความร่วมมือและประสานงานกันระหว่าง สพฐ. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการ โดยนักเรียนที่ผ่านการอบรมจะเป็นแกนนำยุวชนตำรวจ สพฐ. ทำงานร่วมกับครูฝ่ายปกครองและตำรวจ ในการป้องกันเฝ้าระวังการประพฤติตนไม่เหมาะสมของนักเรียนโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การใช้สื่อออนไลน์ การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต การแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญเหตุวิกฤติ การดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การดูแลคุ้มครองเพื่อน การเสียสละ ความสามัคคีในหมู่คณะ มีจิตสาธารณะ สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ มีคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือชุมชน และมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตเชิงบวก ซึ่งจะเป็นการสร้างความปลอดภัยของนักเรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องแบบบูรณาการ
สำหรับวันแรกของการเข้าค่าย บรรดาเยาวชนคนเก่งของเราได้ไปร่วมส่งต่อความดีกันที่โรงเรียนบ้านคลองไทร ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยได้มีการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยกันปรับที่ดินรกร้างให้เป็นแปลงพืชผักสวนครัว การซ่อมแซมโรงอาหาร ทาสีอาคาร การทำความสะอาดและการปรับปรุงห้องสมุด พร้อมทั้งการจัดโซนการเรียนรู้อาเซียนให้กับน้องๆ ได้มาหาความรู้จากห้องสมุดแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นการทำความดีตามแนวพระราชดำริ ที่น้องๆ ต่างร่วมมือร่วมใจทำกิจกรรมกันอย่างตั้งอกตั้งใจ
เรามาร่วมพุดคุยกับบรรดาน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในปีนี้กัน
“แจ็ค” เด็กชายณรงค์ศักดิ์ เยายานัง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หนุ่มจิตอาสาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ 2 (สุวรรณสุธาราม) กรุงเทพฯ เล่าให้เราฟังว่า
“ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในช่วงปิดเทอมของสมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย คุ้นเคยกับกิจกรรมประเภทจิตอาสาอยู่แล้ว แต่พอได้มาฝึกอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ. ก็ทำให้สามารถเรียนรู้หลักปฏิบัติต่างๆ มากขึ้น และเป็นประโยชน์ทั้งในการนำไปปรับใช้กับตัวเองและสังคมรอบข้าง อย่างเช่น การใช้ชีวิตบนโลกสังคมออนไลน์ รู้จักวิธีการเอาตัวรอดเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติต่างๆ ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในการปฏิบัติงานอาสากู้ภัยได้อีกด้วย อย่างเช่น หลักการพื้นฐานในการปฐมพยาบาล และหลักการหลบระเบิดเบื้องต้น”

มาที่อีกหนึ่งหนุ่ม “อ้น” นายนพณัฐ บุญเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม จังหวัดกรุงเทพฯ เล่าถึงประโยชน์ของโครงการอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ. ว่า เป็นโครงการที่ดีมากในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เราเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนๆ ในโรงเรียน เช่น เรื่องของยาเสพติดก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยและโทษของยาเสพติดทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
“ผมเป็นกรรมการนักเรียนก็จะนำความรู้และประสบการณ์จากการอบรมในครั้งนี้ ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในโรงเรียน การมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้ว ยังทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆ ต่างสถาบันอีกหลายโรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งสนุกและได้ฝึกทักษะชีวิตและจิตอาสาที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในหลากหลายรูปแบบ”

หันไปคุยกับพี่ใหญ่อย่าง “แทน” นายกีรติ คล่องกิจการ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม เล่าว่า โครงการยุวชนตำรวจ สพฐ. ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวม รวมถึงการอบรมในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสังเกตและจดจำรูปพรรณสัณฐานบุคคลให้เราสามารถบอกลักษณะของบุคคล กรณีหากเกิดการชิงทรัพย์แล้วเราอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เราก็สามารถนำข้อมูลรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายไปแจ้งตำรวจเพื่อเป็นเบาะแสในการติดตามตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย
“ผมคิดว่าสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมากจริงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในห้องเรียน และที่สำคัญเป็นประโยชน์มากในฐานะที่เราก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วมในสังคมที่หลากหลายรูปแบบ และเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอันตรายซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าค่ายจะเป็นความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่ผมจะนำไปบอกต่อให้เพื่อนๆ ได้รับรู้อย่างแน่นอนครับ”

ปิดท้ายกันที่สาวน้อยนักกิจกรรมตัวยง “ใบหม่อน” เด็กหญิงณัฐริกา นาถมภัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2 ดีกรีรองประธานนักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้น จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ จังหวัดกรุงเทพฯ ที่ได้มาร่วมปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เราได้รับทราบถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้ง 3 วัน นั้นก็คือ ห่วงที่ 1 คือ พอประมาณ หมายถึง พอประมาณในทุกอย่าง ความพอดี ไม่มากหรือว่าน้อยจนเกินไปโดยต้องไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน ห่วงที่ 2 คือ การมีเหตุผล และห่วงที่ 3 ก็คือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง และอีก 2 เงื่อนไข นั่นก็คือ องค์ความรู้ที่เราสามารถนำมาพัฒนาพัฒนาต่อยอดบนหลักเงื่อนไขที่ 2 คือความมีคุณธรรม ที่จะต้องยึดมั่นสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีสติในทุกๆ แนวทาง
“เราได้อ่านและรู้ถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงในห้องเรียน แต่พอเราได้มาลงมือปฏิบัติจริงๆ อย่างวันนี้ได้มาลงมือปลูกแปลงเกษตรพืชผักสวนครัวให้น้องๆ ที่โรงเรียน ทำให้พวกเราเข้าใจหลักการกินอยู่แบบพอประมาณ การใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่อยู่ในดิน เราก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐาน
ของความพอเพียง” ใบหม่อน กล่าวปิดท้าย

โครงการอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 5 ปี ถือเป็น
การเปิดประตูสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์จริง บ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนไทยมีภูมิคุ้มกัน
ที่จะต้านทานภัยต่างๆ รอบตัว พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นต้นแบบที่ดีและเป็นกำลังสำคัญ
ในการพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่งและมั่นคงต่อไปในอนาคต