ขอขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา

#สังคหวัตถุสี่ในตำราเรียนของเด็กประถมหนึ่ง
หมอมีโอกาสได้เห็นตำราเรียนวิชาสังคมของเด็ก ป.1 อย่างที่โพสต์มาให้ดูนี่แหละค่ะ
ถึงแม้ความทรงจำสมัยอยู่ ป.1 ของตัวเองจะเลือนลางพอสมควร แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองเริ่มเรียนวิชาพระพุทธศาสนาตอนที่อยู่ ป.5 หรือไม่ก็คงจะเป็นตอน ม.1 นั่นเลย
สมัยตอนที่เรียน ป.1 จำได้ว่าข้อสอบที่ทำยังเป็นลักษณะว่า "ให้เขียนชื่อผลไม้ตามภาพต่อไปนี้" อยู่เลย
ตำราเด็ก ป.1 สมัยนี้ไปไกลมาก ต้องเรียนเรื่อง ศีลห้า สังคหวัตถุสี่ มงคลต่างๆ
คำถาม: เด็กป.1 ที่ต้องเรียนตำรานี้ จะเข้าใจไหม?
แน่นอน เด็กบางคนเรียนได้และเข้าใจ หมอทราบว่ามีอยู่
แต่ก็มีเด็กหลายคนที่เรียนแล้วอาจจะไม่เข้าใจ หรือตามไม่ทัน
คำถามต่อมา: เด็กที่เรียนไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ ถือว่าเด็กผิดปกติหรือไม่?
หมอคิดว่า เด็ก ป.1 ที่ไม่เข้าใจแบบเรียนนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะแบบเรียนค่อนข้างยากเกินไปสำหรับเด็ก ป.1
แต่เรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ใหญ่มักจะมองความสามารถเด็กจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถูกต้องของการบ้าน
คะแนนสอบที่ได้
เมื่อเด็กคนหนึ่งทำการบ้านไม่ได้ ทำคะแนนสอบไม่ได้ดี เด็กก็จะถูกตำหนิติเตียน บางทีก็เป็นคุณครู บางครั้งก็เป็นพ่อ
แม่เอง
ลืมคิดไปว่าปัญหาที่เป็นสาเหตุอาจอยู่ในตำราเรียนของเด็ก และหลักสูตรการศึกษาไทยในปัจจุบัน
.
นานมาแล้ว มีเด็กอนุบาลคนหนึ่งที่คุณ
แม่พามาตรวจกับหมอ
คุณแม่บอกว่า คุณครูสงสัยว่าเด็กจะเป็นสมาธิสั้น
"ครูบอกว่าน้องเรียนอ่อนที่สุดในกลุ่ม แม่เองก็ เครียด"
ประวัติคือ เวลาให้เด็กทำ
งาน เด็กจะถามครูบ่อยๆว่า "ถูกไหมครับ" "ใช่ไหมครับ" ทำการบ้านแล้วก็ลบบ่อยๆ บางทีก็ไม่ส่งงาน
ครูมองว่าเด็กมีปัญหาสมาธิ
แม่เล่าว่า เด็กอยู่อนุบาลสอง ต้องท่องสูตรคูณให้ได้ บวกเลขได้หลายๆหลัก เรียนศัพท์อังกฤษยากๆ ที่มีตัวอักษรเยอะๆ เช่น คำว่า mouth เด็กทำไม่ได้ ทำได้แค่คำสั้นๆ อย่าง ant, cat
จากการตรวจก็พบว่าเด็กไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น แต่สิ่งที่รบกวนเด็กก็คือ ความวิตกกังวลจากการเรียนที่ยากเกินไป และความคาดหวังของคุณครูรวมถึงพ่อแม่
ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทำให้กลัวไปหมดว่าจะทำผิดและจะถูกตำหนิ ทำให้ต้องถามต้องเช็คกับคนอื่นตลอดว่า "ถูกหรือเปล่าครับ" และบางทีก็ไม่กล้าส่งงาน เพราะกลัวทำผิดแล้วถูกดุ
.
เด็กหลายคนที่มาหาหมอ ส่วนหนึ่งก็มีปัญหาในส่วนของเด็กที่ต้องได้รับการดูแลรักษา แต่สาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า เกิดจากการเรียนการสอนสมัยนี้
การศึกษาที่ทำให้เด็กๆรู้สึกแย่ สูญเสียความภาคภูมิใจโดยไม่จำเป็น
จากเด็กปกติดีหลายคน เคยร่าเริงมีความสุข กลายเป็นเด็กที่สูญเสียความมั่นใจ ซึมเศร้า
เด็กหลายคนมีภาวะวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร พฤติกรรมถดถอย ต่อต้านและดื้อมากขึ้น
เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร และเราจะไปทางไหนกันต่อดี ในยุคที่การศึกษาไทยอาจจะกลายเป็นหอกดาบทิ่มแทงจิตใจดวงน้อยๆของเด็กๆ
มันช่างย้อนแย้งกับหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาในตำราเรียนเสียจริงๆ
.
คำถามสุดท้าย: หลักสูตรที่ยากและซับซ้อนจะทำให้เด็กไทยเราฉลาดและประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตหรือไม่?
อาจจะไม่ใช่ แต่ที่แน่นอนคือมันจะทำให้เด็กส่วนหนึ่งสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง
#หมอมินบานเย็น