เพื่อให้ก้าวแรกของชีวิตลูกน้อยเริ่มต้นอย่างดีที่สุด สู่ความเป็นอัจฉริยะรอบด้านในอนาคต ตั้งแต่วันแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์ อย่าพลาดที่จะเริ่มก้าวแรกของตัวเองให้ดีที่สุดเช่นกัน เพราะแต่ละก้าวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้สัมผัสกับลูกน้อยในครรภ์นั้น สัมผัสสุดพิเศษจริงๆ ยิ่งตอนที่ลูกของเราเริ่มเคลื่อนไหวได้มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษอย่างบอกไม่ถูก คุณแม่บางท่านถึงกับน้ำตาพรั่งพรูออกมาด้วยความดีใจ แล้วก็นับวันรอคอยได้พบหน้าของลูกน้อย เรามาดูพัฒนาการของลูกน้อยว่าช่วงเวลาที่ลูกเราเคลื่อนไหวได้นั้นอยู่ในสัปดาห์ที่เท่าไหร่แล้วคุณแม่จะต้องดูแลร่างกายอย่างไรกันดีกว่าค่ะ
ลูกน้อยของคุณแม่เริ่มดิ้นหรือยังนะ? ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ลูกคนแรกหรือคนที่เท่าไหร่ก็ตาม การที่ลูกดิ้นก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้ทุกครั้ง และยังเป็นสิ่งยืนยันถึงเจ้าตัวเล็กที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ของคุณแม่อีกด้วย
สำหรับคุณแม่มือใหม่ป้ายแดงนั้น คงต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ตนรู้สึกนั้นไม่ใช่ลมในท้อง แต่เป็นการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวเล็กในครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ผู้มีประสบการณ์ การแยกแยะความรู้สึกนั้นจะทำได้ดีมากกว่า โดยที่มาของการเคลื่อนไหวนั้นมาได้จากหลายอย่าง ลูกน้อยของคุณแม่อาจจะกำลังยืดตัว พลิกจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง หรือกำลังตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระทบครรภ์ของคุณแม่

อะไรเป็นสาเหตุกันนะ?โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่กระตุ้นให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวคือ
เพลง แสง การสัมผัส หรืออาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป คุณแม่อาจจะสังเกตได้ว่าเจ้าตัวเล็กตอบสนองเมื่อคุณแม่พูดคุยด้วยเพลง มีผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของลูก ถึงแม้เราจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าลูกของคุณแม่จะชอบเพลงคลาสสิคเมื่อคลอดออกมา แต่คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกเมื่อคุณแม่เพิ่มเสียงขณะ
ฟังเพลง ไม่เพียงแต่เพลงจะมีผลในระยะยาวกับลูกเท่านั้น แต่จากการวิจัยของ National Academy of Sciences ระบุว่าลูกน้อยเริ่มมีการเรียนรู้ที่จะจดจำคำต่างๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
เมื่อเริ่มเข้าช่วง
สัปดาห์ที่ 26 ของการ
ตั้งครรภ์ ลูกน้อยของคุณแม่จะสามารถลืมตาดวงน้อยๆและกระพริบตาได้ ม่านตาของพวกเขาก็กำลังพัฒนาขึ้นเช่นกัน และลูกก็จะเริ่มทำการตอบสนองต่อแสงที่กระทบครรภ์ แม้ว่าภาพที่พวกเขามองเห็นนั้นจะยังไม่ชัดเจน แต่หากคุณแม่ต้องอยู่ในที่ที่มีแสงจ้ามากๆ มีโอกาสที่ลูกน้อยอาจจะออกท่าทางเพื่อตอบสนองต่อแสงนั้น สัมผัสจากแม่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี การเคลื่อนไหวของเด็กในครรภ์นั้น พบว่าลูกจะขยับ แขน หัว หรือปากเมื่อคุณแม่สัมผัสบริเวณท้อง
ลูกดิ้นมากไปหรือว่าน้อยไปกันแน่นะ?เป็นเรื่องดีที่คุณแม่จะเรียนรู้และสังเกตการณ์ดิ้นของลูกน้อยภายในครรภ์ เมื่อเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 28 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 คุณแม่ควรใช้เวลานับจำนวนครั้งการดิ้นของลูกในแต่ละวัน โดยปกติแล้วลูกน้อยในครรภ์จะขยับตัวออกท่าทางประมาณ 10 ครั้งในเวลา 2 ชั่วโมงเมื่อพวกเขาตื่น แต่หากว่าลูกน้อยของคุณแม่ดิ้นมากเกินไปจนผิดสังเกต หรือทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายใจและไม่สบายตัว คุณแม่ลองนั่งพักในที่เงียบๆ และตั้งความสนใจไปที่การดิ้นของลูก หากยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจหรือกังวลควรเข้าพบแพทย์ทันที
ความเครียดเป็นอีกแรงกระตุ้นที่มีผลให้ลูกลดการเคลื่อนไหว ความรู้สึกทางอารมณ์ของแม่ส่งผลต่อการทำ
งานของระบบประสาท การเคลื่อนไหว และการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ดังนั้นคุณแม่อย่าเครียดกันมากนะคร้า
เพื่อเป็นการลดระดับความเครียดลง คุณแม่อาจลองการออกกำลังกายประเภทต่างๆ เช่น โยคะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ โดยทำการออกกำลังกายร่วมกับการทำสมาธิให้ผ่อนคลาย ทั้ง 2 อย่างเมื่อทำควบคู่กันจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพทั้งกายและใจที่สมบูรณ์พร้อม
เป็นอย่างไรบ้างคะคุณแม่ทุกๆ ท่านเราคิดว่าทุกคนที่มีบทบาทความเป็นแม่ไม่ว่าคุณแม่มือใหม่ป้ายแดง หรือคุณแม่ที่มีลูกมาแล้ว ไม่ว่าจะท้องไหนก็มีความตื่นเต้นไม่แพ้กัน เพราะการเคลื่อนไหวของลูกน้อยนั้นบอกได้ว่าลูกเรามีสุขภาพที่แข็งแรงหรืออาจจะมีภาวะที่น่ากังวล คุณแม่ก็ควรปรึกษาแพทย์ได้ทุกเมื่อหากเจอข้อผิดปกตินะคะ ขอให้คุณแม่ทุกท่านที่กำลังตั้งครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะคะ
ขอบคุณที่มาของบทความ : enfababy.com