สร้างความรู้ สู่การเอาชนะเชื้อดื้อยา วาระระดับโลก
“การดื้อยาต้านจุลชีพ” (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและร่วมมือกันหาแนวทางแก้ปัญหาและรับมืออย่างจริงจัง เพราะปัญหาดังกล่าวคร่าชีวิตคนทั่วโลกสูงถึงปีละกว่า 700,000 คน รวมถึงประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจาก AMR ปีละกว่า 38,000 คน
ดร. นพ. นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เชื้อดื้อยา เป็นภาวะที่เชื้อจุลชีพปรับตัวให้ทนต่อยาต้านจุลชีพ ตามปกติเชื้อจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย รา หรือไวรัส ต่างมีคุณสมบัติสามารถปรับตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกทำลายด้วยยาได้ ซึ่งเมื่อมีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เชื้อดังกล่าวเกิดการดื้อยาในที่สุด ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนยา ใช้เวลาและทรัพยากรในการรักษามากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ในกรณีที่เชื้อดื้อยารุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การดื้อยาต้านจุลชีพได้ทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเชื้อดื้อยาที่ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทยขณะนี้คือ เชื้อแบคทีเรียแกรมลบและเชื้อวัณโรค โดยเฉพาะการติดเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่มีโอกาสเกิดการเชื้อดื้อยาสูง เนื่องในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยที่มักการติดเชื้อที่มีความรุนแรง เชื้อจุลชีพมีโอกาสสัมผัสกับยาปฏิชีวนะที่หลากหลายจนมีการปรับตัวเป็นเชื้อดื้อยา ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโรคหนึ่งอยู่แล้ว อาจได้รับเชื้อโรคอื่นๆ เพิ่มเข้ามาในร่างกาย จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษามากขึ้นนำไปสู่การเกิดการดื้อยาตามมา
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยได้กำหนด “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564” โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ลงร้อยละ 20 รวมถึงสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมมากขึ้นร้อยละ 20
สำหรับภาคเอกชน ไฟเซอร์ ในฐานะบริษัทผู้วิจัยยาและชีวเวชภัณฑ์ระดับโลก ได้ดำเนินการโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อเอาชนะความท้าทายจากปัญหา AMR อย่างสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์การป้องกันก่อนเกิดปัญหา โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเก็บข้อมูลความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อยาปฏิชีวนะ โดยมีการนำเสนอข้อมูลเผยแพร่ในวารสารวิชาการ เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “ATLAS” เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ต่อมาคือ การเสริมความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาล ผ่านสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น บทเรียนออนไลน์ หนังสืออิเลกทรอนิกส์ (e-Book) และเว็บไซต์ IDstream.asia อีกทั้งร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทย จัดประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือ สร้างความตระหนักรู้ ด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ผ่านสมาคมการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทย
ทั้งนี้ ไฟเซอร์เชื่อว่าแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา AMR ให้เกิดความยั่งยืน คือ การให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านจุลชีพโดยตรงจึงได้ร่วมมือกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโอฮุน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายการศึกษาทางการแพทย์ สื่อการสอน กลยุทธ์การดำเนินงานด้านระบบควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนและผู้ป่วย
ด้าน ดร. วิพัฒน์ คุรุจิตธรรม กรรมการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโอฮุน กล่าวว่า “ซีโอฮุน เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัย 72 แห่ง ใน 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งถือเป็นเครือข่ายทางการศึกษาที่แข็งแรง โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้นำสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอันตรายจากการติดเชื้อโรคประจำถิ่น และโรคอุบัติใหม่ จากการอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมามีการวางแผนกับภาครัฐเพื่อจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย เพื่ออบรมนักศึกษาให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ในด้านสาธารณสุข
ซีโอฮุน และไฟเซอร์ มีแนวคิดที่สอดคล้องกันในเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์อันเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุของปัญหาและจะช่วยแก้ไขปัญหา AMR ในระดับประเทศและระดับอาเซียนได้อย่างยั่งยืน โดยการนำองค์ความรู้จากบริษัทระดับโลกมาถ่ายทอดเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถ ผ่านการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการร่วมจัดทำสื่อการให้ความรู้ และการดำเนินกลยุทธ์ในด้านการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม โดยมีหน่วยงานเครือข่ายของซีโอฮุนเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ภายในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อช่วยยกระดับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภารกิจในการต่อสู้กับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
แนวทางแก้ปัญหา “การดื้อยาต้านจุลชีพ” คือการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องและแข็งแรง พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ควบคู่กันไป โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมมือกันยับยั้งและหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการ