ต้องยอมรับว่าปี 2563 จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเผชิญวิบาก และความท้าทายครั้งใหญ้อีกครั้ง เมื่อค่ายผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง “โตโยต้า” ออกมาฟันธงชัดเจนว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์เมืองไทยปีนี้ จะต่ำกว่า 1 ล้านคัน
นั่นหมายความว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้จะอยู่ในภาวะหดตัว จากปี 2562 ที่ผ่านมาที่มียอดขายอยู่ที่ 1,007,552 คัน ซึ่งลดลง 3% จากภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2561 โดยที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมียอดขายถึง 1,000,000 คัน 4 ครั้ง ได้แก่ ปี 2555, ปี 2556, ปี 2561 และ ปี 2562
มิจิโนบุ ซึงาตะ
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากสถานการณ์จีน–สหรัฐซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อม รวมไปถึงมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
จากปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ โตโยต้าคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศไทยปี 2563 นี้ จะอยู่ที่ 940,000 คัน ซึ่งลดลงถึง 7% เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับเป้าหมายของโตโยต้าในปี 2563 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายการขายที่ 310,000 คัน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 33.0% ซึ่งลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่เป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้ คาดการณ์ไว้ว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 263,000 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1% ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย
นอกจากนี้แผนการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกจะอยู่ที่ 556,000 คัน ลดลง 3% จากยอดผลิต 570,850 คัน ในปี 2562 ซึ่งมียอดการผลิตลดลง 3% เช่นกัน เมื่อเทียบจากปี 2561
ภายใต้ปัจจัยลบดังกล่าว หนึ่งในทางออกของโตโยต้าเพื่อสร้างการเติบโตจากนี้คือ การมุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ ปลั๊ก–อิน ไฮบริด หลังจากได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 โดยคาดการณ์ว่า จะได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์ภายใต้โครงการดังกล่าวประมาณปี 2566
อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เห็นว่า การที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้ง ภาครัฐ, เอกชน และ สถาบันการศึกษา ขณะที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีจำนวนราว 500 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการที่กระจายอยู่ของรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ผลการดำเนินงานของโตโยต้าในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ตลาดที่หดตัวลง โดยมียอดขายอยู่ที่ 332,380 คัน เติบโต 6% ครองส่วนแบ่งการตลาด 33.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.8 จุด
การเติบโตสวนทางตลาดดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และรุ่นปรับปรุงใหม่ของรถยนต์นั่งอย่าง New Camry และ New Corolla Altis รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของ Yaris และ ATIV ตลอดจนรถเพื่อการพาณิชย์ อย่าง Hilux Revo Z Edition, Commuter และ Majesty
ด้านการส่งออกในปี 2562 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 264,775 คัน ลดลง 10% จากปี 2561 โดยปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 570,850 คัน ลดลง3% สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้
https://www.thebangkokinsight.com/278237/