โครงการ Global FinPrint ของมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation เผยว่าความหวังยังมีอยู่ หากมีการใช้มาตรการอนุรักษ์อย่างจริงจัง
ผลการศึกษาครั้งสำคัญของ Global FinPrint ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เผยให้เห็นว่า ฉลามสูญหายไปจากแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าฉลามหายากมากจนขาดบทบาทในระบบนิเวศ ส่งผลให้เข้าสู่ “ภาวะสูญพันธุ์โดยปริยาย” ในที่สุด โดยจากการสำรวจแนวปะการัง 371 แห่ง ใน 58 ประเทศ ปรากฏว่าไม่พบฉลามในพื้นที่สำรวจเกือบ 20% ซึ่งบ่งชี้ถึงการลดจำนวนลงในหลายพื้นที่แต่ไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลมาก่อนจนถึงตอนนี้ ขณะเดียวกัน การสำรวจยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์เพื่อช่วยฟื้นฟูประชากรนักล่าใต้ท้องทะเลเหล่านี้
นักสำรวจไม่พบฉลามในแนวปะการังใดเลยใน 6 ชาติ ได้แก่ สาธารณรัฐโดมินิกัน หมู่เกาะเวสต์อินดีส เคนยา เวียดนาม หมู่เกาะวินด์เวิร์ด และกาตาร์ โดยในจำนวนนี้พบฉลามเพียง 3 ตัวระหว่างการสำรวจนานกว่า 800 ชั่วโมง
“ถึงแม้ผลการสำรวจของ Global FinPrint จะแสดงให้เห็นว่าฉลามหายไปจากแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลกอย่างน่าสลดใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณแห่งความหวัง” โจดี อัลเลน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation กล่าว “ข้อมูลจากการสำรวจประชากรฉลามในแนวปะการังทั่วโลกครั้งแรกนี้จะมอบแนวทางที่สำคัญในการวางแผนอนุรักษ์และปกป้องฉลามปะการังที่เหลืออยู่”
สถานการณ์ของฉลามปะการังทั่วโลกเป็นสัญญาณเตือนการสูญพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญ จุดดึงดูดการท่องเที่ยว และนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในแนวปะการัง อันเป็นผลมาจากการล่าฉลามมากเกินไป โดยเฉพาะการประมงแบบทำลายล้าง เช่น การใช้เบ็ดราวและอวนลอย
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นผลกระทบเชิงลบจากฝีมือมนุษย์ที่มีต่อประชากรฉลามปะการัง โดยมีความชัดเจนว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาคือความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ การประมงแบบทำลายล้าง และการขาดธรรมาภิบาล” ดร. เดเมียน แชปแมน ผู้นำร่วมของโครงการ Global FinPrint และรองศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Florida International University กล่าว “อย่างไรก็ดี เราพบว่าประชากรฉลามจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ หากมนุษย์มีความตั้งใจ มีมาตรการ และมีแผนอนุรักษ์ฉลามอย่างจริงจัง”
ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่ามีหลายประเทศที่อนุรักษ์ฉลามอย่างจริงจังและใช้มาตรการเฉพาะเจาะจงที่มีประสิทธิภาพ โดยประเทศที่อนุรักษ์ฉลามได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคประกอบด้วยออสเตรเลีย บาฮามาส สหพันธรัฐไมโครนีเซีย เฟรนช์พอลินีเชีย มัลดีฟส์ และสหรัฐอเมริกา ชาติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามมีมากกว่าที่อื่น นั่นคือ การบริหารจัดการที่ดี เช่น การห้ามจับฉลามอย่างเด็ดขาด หรือการควบคุมให้จับฉลามได้โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์
“ชาติเหล่านี้มีประชากรฉลามมากกว่าที่อื่นเพราะมีธรรมาภิบาลในการแก้ปัญหาดังกล่าว” ดร. อารอน แมคนีล ผู้นำการวิจัยของ Global FinPrint และรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Dalhousie University กล่าว “การกำหนดชนิดของอุปกรณ์จับปลา การจำกัดการจับฉลาม หรือการห้ามจับและค้าฉลามในระดับประเทศ ล้วนเป็นมาตรการชัดเจนที่เราสามารถทำได้เพื่อควบคุมการจับฉลามปะการังในเขตร้อน”
ทีมงาน Global FinPrint กำลังต่อสู้กับข้อเท็จจริงที่ว่า มาตรการอนุรักษ์ฉลามเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่นักวิจัยกำลังศึกษาว่าต้องบริหารจัดการระบบนิเวศควบคู่กันด้วยหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีปลาในแนวปะการังมากพอสำหรับเป็นอาหารของนักล่าเหล่านี้
“การสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว แต่เรายังติดตามต่อว่าการที่ฉลามหายไปจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแนวปะการังอย่างไร” ดร. ไมค์ ไฮธอส ผู้นำร่วมของโครงการ Global FinPrint และคณบดีวิทยาลัยศิลปะ วิทยาศาสตร์ และศึกษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Florida International University กล่าว “ในยามที่แนวปะการังอยู่รอดยากขึ้นเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของฉลามปะการังอาจสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบนิเวศแนวปะการังทั้งหมด”
โครงการ Global FinPrint ริเริ่มขึ้นในฤดูร้อนปี 2558 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานีบันทึกวิดีโอใต้น้ำระยะไกล (BRUVS) ที่มีการติดตั้งกล้องวิดีโอพร้อมเหยื่อล่อ หรือ “Chum Cam” การสำรวจระบบนิเวศแนวปะการังด้วย BRUVS ดำเนินการใน 4 ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก แปซิฟิก แอตแลนติกตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
ตลอดระยะเวลา 4 ปี ทีมงานได้บันทึกและวิเคราะห์วิดีโอความยาวรวมกว่า 15,000 ชั่วโมง ที่ได้มาจากการสำรวจแนวปะการัง 371 แห่ง ใน 58 ประเทศ รัฐ และดินแดนทั่วโลก โดยทีมงานประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักอนุรักษ์หลายร้อยคนจากเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง Florida International University, Australian Institute of Marine Science, Curtin University, Dalhousie University และ James Cook University
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://globalfinprint.org
เกี่ยวกับ Global FinPrint
Global FinPrint คือโครงการของมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation ซึ่งนำโดย Florida International University และสนับสนุนโดยกลุ่มความร่วมมือขององค์กรทั่วโลกที่ครอบคลุมนักวิจัย ผู้ให้ทุน และนักอนุรักษ์ โครงการนี้เป็นโครงการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จำนวนประชากรปลากระเบนและฉลามปะการังทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ติดต่อ:
press@pgafamilyfoundation.com
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1216375/GlobalFinPrint.jpg